ประกันรถไฟฟ้าจะถูกลงไหม!? คปภ.เผยร่างอันใหม่ คิดเบี้ยแยก ตัวรถ+แบตเตอรี่+ประวัติคนขับ เริ่มใช้ปี67

         อุปสรรคของการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ( EV ) นอกเหนือจากการชาร์จที่ใช้เวลานาน และราคาของรถยนต์ไฟฟ้า
จะมีเรื่องของเบี้ยประกัน ซึ่งในปีแรกผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า จะยังไม่ต้องเสียค่าเบี้ยประกัน แต่เมื่อเข้าสู่ปีที่ 2
ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า จะต้องเสียค่าเบี้ยประกันเอง ซึ่งค่าเบี้ยประกันจะสูงกว่าเบี้ยประกันของรถยนต์ไฟฟ้าค่อนข้างมาก
          ล่าสุดทาง คปภ. ( สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ) เตรียมออกประกันรถยนต์ไฟฟ้า ออกมาบังคับใช้โดยจะเริ่มใช้ตั้งแต่ มกราคม 2567 เป็นต้นไป โดยประกันต้นแบบของเดิมที่มีราคาแพง จะอ้างอิงมาจากแพลตฟอร์มตัวรถยนต์น้ำมัน
           ซึ่งในความเป็นจริงโครงสร้างจะแตกต่างกันเกินไป ควรจะต้องทำประกันรถยนต์ไฟฟ้าออกมาแยกต่างหาก โดยมีการคิดที่แตกต่างกัน อาทิ ค่าความเสื่อมของแบตเตอรี่, เรื่องของทุนประกันการซ่อม การเพิ่มเรื่องของประวัติการขับของตัวคน และประวัติของการใช้รถ

         ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาจะนำมาเป็นปัจจัยในการร่างแนวทางในการทำประกันรถยนต์ไฟฟ้าให้มีราคาที่เหมาะสม

         ทางด้านสมาคมประกันวินาศภัยไทย มองเห็นว่าเมื่อมีรถยนต์ไฟฟ้าออกมามากขึ้น แน่นอนย่อมจะเกิดอุบัติเหตุและมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว อาทิ การขับรถยนต์ไฟฟ้าไปเฉี่ยวชน จนแบตเตอรี่เกิดการเสียหาย
จนต้องทำการเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ หรือกรณีขับรถยนต์ไฟฟ้า แล้วแบตเตอรี่ขุดกับฟุตบาท ทำให้จะต้องทำ
การเปลี่ยนแบตเตอร์รี่ใหม่เช่นเดียวกัน

         ดังนั้นจึงต้องมีการร่างประกันตัวรถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจังออกมาโดยเร็วที่สุด ซึ่งหากมองย้อนกลับไป
ในช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่เดือนมกราคม – กันยายน มียอดสะสมอยู่ที่ 

50,347 คัน คิดเป็น 10.05 % ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด ซึ่งมียอดขายรถยนต์ทั้งหมดอยู่ที่ 500,942 คัน
เป็นยอดที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ในปี 2567 คาดการณ์ว่าจะมียอดขายถึงหลักแสนคัน
         ก่อนจะกล่าวถือร่างประกันรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ จะต้องมาดูปัจจัยที่ทำให้ค่าเบี้ยประกันของรถยนต์ไฟฟ้าของเดิม

มีราคาแพง

ปัจจัยที่ทำให้ค่าเบี้ยประกันรถยนต์ไฟฟ้ามีราคาแพงกว่ารถยนต์น้ำมัน

1. แบตเตอรี่

         อย่างที่เราทราบกันดีว่าราคาของแบตเตอร์รี่ จะเท่ากับราคาครึ่งหนึ่งของราคารถยนต์ไฟฟ้า
ซึ่งถ้าหากมองประกันของเดิมที่ใช้แพลตฟอร์มจากรถยนต์น้ำมัน การซ่อมรถยนต์น้ำมัน ตัวชิ้นส่วนและอะไหล่จะมีราคาที่ไม่แตกต่างกันมาก 

         แต่เมื่อเป็นรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะแบตเตอร์รี่อย่างเดียว จะมีราคาเป็นครึ่งหนึ่งของรถยนต์ไฟฟ้า
เมื่อเกิดอุบัติเหตุ จะต้องเข้าศูนย์บริการค่ายรถเพียงอย่างเดียว ซึ่งผู้ที่สามารถซ่อมแบตเตอรี่ได้ การแกะซ่อมเปลี่ยนแบตเตอรี่ จะไม่สามารถทำได้ทันที เพราะแบตเตอร์รี่ส่วนใหญ่ผลิตจากต่างประเทศเป็นแบตเตอรี่แพ็ค
ซึ่งประเทศไทยยังอยู่ในช่วงการนำเข้า ดังนั้นค่ายประกันจึงต้องตีราคาเบี้ยประกันให้แพงกว่ารถยนต์น้ำมัน
โดยเฉพาะค่าแบตเตอรี่ที่เพิ่มขึ้นมา จะถูกตีในราคาที่สูงกว่า 20 – 30 % เพื่อให้วงเงินคุ้มครองค่าแบตเตอรี่

 

2. จำนวนผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ามีน้อยมาก

         เมื่อเทียบกับรถยนต์น้ำมัน ทำให้ค่าเบี้ยประกันมีราคาแพง ซึ่งเรื่องของประกันเป็นเรื่องของความเสี่ยง
การออกโปรดักส์ประกัน จะต้องมีนักคณิตศาสตร์ประกันภัยมาคำนวณความเสี่ยง จากมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเฉี่ยวชน และอัตราเสี่ยง

         จากรถยนต์ไฟฟ้าที่มีจำนวนน้อย ทำให้ข้อมูลในการคำนวณมีจำนวนน้อยตามไปด้วย ซึ่งในปี 2567 เป็นปีแรก
ที่สัดส่วนผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ามีถึง 10% ของยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ทั้งหมด เพื่อจะทำโปรดักส์ประกันออกมา
จึงมีการเทียบเคียงสถิติระหว่างรถยนต์ไฟฟ้ากับรถยนต์น้ำมันแบบดั้งเดิม รวมทั้งมีการอ้างอิงอัตราส่วนค่าสินไหมทดแทน (Loss Ratio) จากต่างประเทศ อาทิ ประเทศจีน และประเทศอเมริกา ที่มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากกว่าประเทศไทย ซึ่งค่าสินไหมทดแทน (Loss Ratio) ของรถยนต์ไฟฟ้ามีค่าที่สูงกว่ารถยนต์น้ำมันทั่วไปอยู่ที่ 30 – 40%

3. ศูนย์บริการมีจำนวนน้อย

        การซ่อมจะต้องทำที่ศูนย์บริการเพียงอย่างเดียว หรือเรียกว่า ซ่อมห้าง (การนำรถเข้าซ่อมกับศูนย์บริการ
รถยนต์ของยี่ห้อนั้น ๆ )
จะไม่สามารถนำรถยนต์ไฟฟ้ามาซ่อมที่อู่ข้างนอกได้ ซึ่งการซ่อมห้างจะมีค่าบริการที่แพงกว่า การซ่อมรถยนต์ไฟฟ้า จะต้องใช้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะเรื่องของระบบไฟฟ้าภายใน 

         จากเรื่องของรับประกัน จะต้องมีการเทรนซ่อมเฉพาะในศูนย์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น นอกจากนี้มีบางศูนย์ที่
ไม่สามารถทำการซ่อมรถยนต์ไฟฟ้าได้

4. อะไหล่ของรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าและมีราคาแพง

         จากการส่งเสริมเรื่องของมาตรการ EV ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่เข้ามาในตลาดประเทศไทย
จะเป็นการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าแบบสำเร็จทั้งคัน ดังนั้นเรื่องของบริการหลังการขาย จะต้องนำเข้าชิ้นส่วนอะไหล่
เพื่อสร้างความมั่นใจให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งในปี 2567 เป็นต้นไปจะบังคับให้มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
ในประเทศไทย เพราะฉะนั้นอะไหล่ที่ผลิตในประเทศได้ จะส่งผลให้ราคามีแนวโน้มถูกลง

5. บริษัทที่รับทำประกันมีจำนวนน้อย

         สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ค่าเบี้ยประกันมีราคาแพง เพราะว่าบริษัทที่กล้าออกมาเล่นเรื่องของประกันรถยนต์ไฟฟ้า
มีจำนวนน้อย ทำให้การแข่งขันเรื่องราคาน้อยตามไปด้วย บางค่ายมีการกำหนดค่าเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นตามที่ต้องการ ดังนั้นค่าเบี้ยประกันจะเริ่มถูกลง ก็ต่อเมื่อมีคู่แข่งหรือบริษัทประกันที่จะมาทำเรื่องประกันรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
         ด้วยเหตุผลเหล่านี้ทำให้ประกันรถยนต์ไฟฟ้าแพงกว่ารถยนต์น้ำมัน จนกลายเป็นอุปสรรคของคนที่ใช้
รถยนต์ไฟฟ้า เมื่อเจอกับค่าเบี้ยประกันที่มีราคาสูงกว่ารถยนต์น้ำมันที่ไม่มีความสมเหตุสมผล
ดังนั้น คปภ. เล็งเห็นว่าถ้าต้องการผลักดันส่งเสริมให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง ประเด็นนี้ควรจะต้อง
ทำการแก้ไข จึงเกิดร่างแนวทางประกันรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ที่จะเริ่มใช้ในปี 2567 เป็นต้นไป ซึ่งในตัวร่างหลายคน
เริ่มเห็นมีการโพสต์ การแชร์ตามกลุ่มต่าง ๆ

         แต่สิ่งที่หลายคนติดใจมากที่สุด คือ เรื่องของเกณฑ์ประกันของรถยนต์ไฟฟ้าที่คุ้มครองแบตเตอรี่ตามค่าเสื่อม

         ในตารางจะเป็นการเปลี่ยนแบตเตอร์รี่ใหม่เท่านั้น ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี จะชดใช้ค่าความเสียหายของแบตเตอรี่อยู่ที่ 100%  ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าที่มีอายุ 7 ปีขึ้นไป จะชดใช้ค่าความเสียหายแบตเตอร์รี่อยู่ที่ 12.5 % หมายความว่าการขับรถยนต์ไฟฟ้าอายุมากกว่า 7 ปีขึ้นไป เมื่อเกิดการชน จนแบตเตอรี่เกิดความเสียหาย จะต้องทำการเปลี่ยนใหม่ สมมติเป็น รถ BYD ATTO 3 ราคาของแบตเตอรี่อยู่ที่ 650,000 บาท

         ซึ่งหมายความว่าประกันจะจ่ายค่าชดใช้แบตเตอร์รี่ที่ 12.5% คือ นำ 0.125 คูณกับ 650,000 จะคุ้มครอง
ความเสียหายอยู่ที่ 81,250 บาท และเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าจะต้องจ่ายค่าส่วนต่าง ถ้าไม่ต้องการจ่ายค่าส่วนต่าง สามารถซื้อความคุ้มครองแบตเตอรี่แบบ 100% เพิ่ม เพื่อให้ครอบคุมค่าประกันแบตเตอรี่ลูกใหม่
         ค่าชดใช้แบตเตอรี่ที่ 12.5% การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าจริง จะตีค่าเสื่อมของแบตเตอรี่ตามอายุรถยนต์ไฟฟ้า
ไม่ได้ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้งาน บางคนอาจชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบ DC Fast Charge ทำให้แบตเตอรี่เกิดความร้อน เกิดการเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว หรือบางคนชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบ AC แบตเตอรี่จะเกิดการเสื่อมที่ช้าลง

         บางคนใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าอย่างหนักและใช้ความเร็วสูง มีการดึงไฟฟ้าจากแบตเตอรี่จำนวนมาก
เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้แบตเตอรี่เกิดการเสื่อมลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน

         และทางคุณเวลมีการถกเถียงในที่ประชุมร่วมร่างแนวทางกับทาง คปภ. ซึ่งทาง คปภ.แจ้งว่าการตีมูลค่า
แบตเตอรี่ไม่ได้ตีตามทางวิศวะกรรม หรือการใช้งาน หรือการตีมูลค่าแบตเตอรี่ที่เรียกว่า State of Health (SOH) สุขภาพแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้า จะตีมูลค่าตามประสิทธิภาพ แต่การตีมูลค่าแบตเตอรี่จริง จะต้องตีตาม
มูลค่าตลาดของการรับซื้อแบตเตอรี่มือสอง

         ดังนั้นค่าชดใช้แบตเตอรี่ที่ 12.5% ที่มีการอ้างอิงจากต่างประเทศ ควรมีการปรับให้มีความเหมาะสม
ทาง คปภ. จะต้องทำการปรับค่าชดใช้แบตเตอรี่อีกครั้งหนึ่ง ก่อนการประกาศเป็นร่างฉบับสุดท้าย 

เพื่อนำไปใช้งานจริง การประกาศออกมาที่เกณฑ์ 12.5 % จะกลายเป็นการสร้างมาตรฐานราคาของรถยนต์ไฟฟ้า
มือสอง
         หมายความว่าคนที่มีรถยนต์ไฟฟ้าที่มีอายุเกิน 7 ปีขึ้นไป ประกันจะคุ้มครองที่ 12.5% ดังนั้นมูลค่าแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาครึ่งหนึ่งของตัวรถ จะมีค่าความคุ้มครองอยู่ที่ 12.5% จะสร้างปัญหากับรถยนต์ไฟฟ้ามือสอง ซี่งประเด็นนี้ยังไม่มีข้อสรุปออกมา
         นอกเหนือจากค่าเสื่อมของแบตเตอรี่ จะมีคำถามถึงสาเหตุที่ทำให้ค่าเบี้ยประกันรถยนต์ไฟฟ้าจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นจากตารางของเบี้ยประกันรถยนต์ไฟฟ้าภาคสมัครใจ กรมธรรม์ประเภท 1

         จะเห็นได้ว่าอายุรถยนต์ไฟฟ้า 1 ปี จนเกิน 10 ปี เมื่อรถยนต์ไฟฟ้ามีอายุเกิน 10 ปี กรมธรรม์ประเภท 1
ค่าเบี้ยประกันจะเพิ่มขึ้นจาก 100% เป็น 127% มาจากการมองอายุรถยนต์ไฟฟ้าและอะไหล่ที่จะหายากมากขึ้น
นับว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผบต่อการคำนวณเบี้ยประกัน การออกเบี้ยประกันจะคำนวณจากทุนประกัน จะมองในเรื่องของความเสื่อมของแบตเตอรี่ ความคุ้มครองบุคคลภายนอก เมื่อเกิดการเฉี่ยวชนระหว่างรถยนต์น้ำมัน หรือ

รถยนต์ไฟฟ้า อายุรถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ ประวัติของคนขับ และประวัติของรถยนต์ไฟฟ้า จากปัจจัยเหล่านี้
จะนำมาคำนวณค่าเบี้ยประกันออกมา

         ในส่วนสุดท้ายของการคำนวนเบี้ยประกัน คือ ประวัติของคนขับและประวัติของรถยนต์ไฟฟ้า
ปัจจุบันการจ่ายเบี้ยประกัน จะจ่ายตามค่าเฉลี่ย ที่คำนวณจากพฤติกรรมของคนขับรถยนต์ที่ดีและไม่ดี 

มาคำนวณความเสี่ยงแบบกลาง ซึ่งในบางครั้งจะไม่เป็นธรรมกับคนที่มีพฤติกรรมการขับที่ดี
เพราะคนที่มีพฤติกรรมการขับรถที่ไม่ดี ควรจะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันที่สูงกว่า 

          จึงมีการแบ่งออกมาเป็น 2 ส่วน คือ
                ส่วนที่ 1 ประวัติของตัวรถ หมายความว่า เมื่อมีการขายเปลี่ยนมือไป จะต้องมีการเก็บประวัติไว้ ซึ่งส่วนลดจะลดในเบี้ยประกันสูงสุดไม่เกิน 20 – 30% จะเป็นข้อดีของรถยนต์ไฟฟ้า เพราะรถยนต์ไฟฟ้าเป็น IoT ที่เคลื่อนที่ได้ 

มีการเก็บข้อมูลอยู่แล้ว หรือบางครั้งจะเก็บข้อมูลเข้าสู่ Server กลางขึ้นระบบ Cloud อย่างเช่น รถยนต์ไฟฟ้าของ Tesla จะสามารถดึงข้อมูล กรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ว่าก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชน คนขับมีการเหยียบคันเร่ง หรือเหยียบเบรกวินาทีที่เท่าไร ซึ่งรถยนต์น้ำมันจะไม่สามารถทำได้

         ซึ่งรถยนต์น้ำมัน หากมีการติดตั้งกล้องที่หน้ารถ จะได้รับส่วนลด แต่รถยนต์ไฟฟ้าแทบจะทุกรุ่น จะมีการติดตั้งกล้องหน้ารถเรียบร้อยแล้ว จากการที่มีระบบเซ็นเซอร์ ระบบ ADAS ช่วยในการขับขี่

         ดังนั้นข้อมูลเหล่านี้ควรจะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เวลาคุยกับทางค่ายรถกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ควรจะนำข้อมูลส่วนนี้มาประกอบในการประมวลผล
             ส่วนที่ 2 ประวัติผู้ขับขี่ เป็นการสร้างแรงจูงใจให้คนที่มีพฤติกรรมการขับรถที่ดีได้รับส่วนลดที่เพิ่มมากขึ้น 

ซึ่งจะได้รับส่วนลดสูงสุดตั้งแต่ 10 – 40% นำมาคำนวณการจ่ายเบี้ยประกัน อาทิ รถยนต์ไฟฟ้าของ Tesla เป็น
ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าเจ้าแรก ๆ ที่สามารถทำประกันรายบุคคล โดยคิดเป็นคะแนน ถ้าคะแนนเต็ม 100 จะได้ค่าเบี้ยประกันถูกที่สุด แต่ถ้าได้คะแนนประมาณ 90 ต้น ๆ จะจ่ายค่าเบี้ยประกันแพงขึ้น

         ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าของ Tesla จะมีการ Log in โดยใช้ E-mail หรือ User ทำให้ทราบว่า ณ ช่วงเวลานั้น
ใครเป็นผู้ขับขี่ ส่งผลให้การคำนวณเบี้ยประกันรายบุคคลแม่นยำมากขึ้น
         สรุป สำหรับการร่างประกันรถยนต์ไฟฟ้าถือว่าเป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก และเป็นครั้งแรกของประเทศไทย

ที่มีการทำประกันสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่ใช้แพลตฟอร์มของรถยนต์น้ำมัน แต่สิ่งที่อาจจะต้องไปทำการบ้านเพิ่มเติม คือ เรื่องของค่าเสื่อมแบตเตอรี่ เรื่องของการชดใช้ถึงที่มาของค่าตัวเลขที่ยังไม่สมเหตุสมผล
         ทาง คปภ. บอกว่าเป็นเรื่องใหม่ที่จะต้องมีการปรับปรุง แต่ส่วนที่ชอบมากที่สุด คือ ส่วนลดของตัวรถยนต์ไฟฟ้าและคนขับ เพราะจะทำให้ค่าเบี้ยประกันถูกลงและมีความสมเหตุสมผลมากขึ้น และสามารถนำไป Plug-in กับ
ระบบเทคโนโลยีที่มากับรถยนต์ไฟฟ้า

         และนี้เรื่องราวเกี่ยวกับการคิดค่าเบี้ยประกันรถยนต์ไฟฟ้าถึงสาเหตุที่ทำให้ค่าเบี้ยประกันมีราคาแพง
ที่คุณสามารถดูได้จากคลิปด้านล่าง ถ้าหากคุณชอบคลิปนี้ขอฝาก กด LIKE กด SHARE กด SUBSCRIBE
ที่ช่องของพวกเราด้วยนะครับ

Share

FOLLOW US


WELLDONE GUARANTEE

452 Pecthkraseam Rd. Laksong Bangkhae, Bangkok 10160
Email : welldone.guarantee@gmail.com Tel. 0889415944

Copyright © 2022 EV GUARANTEE All rights reserved.