รถบัสไฟฟ้าไร้คนขับสัญชาติไทย เปิดใช้จริงแล้ว!! นำเที่ยวรอบเมืองเก่าอยุธยา จะตอบโจทย์มั้ย?

         วันนี้เราอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อตามมาดูรถบัสไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่มีการใช้เทคโนโลยี Autonomous Driving หรือเทคโนโลยีไร้คนขับ ซึ่งมีการเปิดทดสอบการวิ่งจริงเรียบร้อยแล้ว โดยมีการพาทัวร์
รอบอุทยานเมืองเก่าของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างมาก
         อย่างที่ทราบว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะไม่ใช่เพียงแค่พลังงานไฟฟ้าเท่านั้น แต่สามารถต่อยอดไปถึงเรื่องของ
รถที่ไร้คนขับ เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าเปรียบเสมือนกับแพลตฟอร์มเคลื่อนที่คล้ายกับสมาร์ทโฟน
และรถบัสไฟฟ้าดังกล่าวเป็นรถที่มีอยู่ท้องตลาด ที่นำมาต่อยอดเพิ่มระบบ Autonomous Driving เข้าไป

รถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ

         รถบัสไฟฟ้าไร้คนขับจะเป็นรุ่น STREAM X ของ บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) (NEX)
ที่มีขนาดอยู่ที่ 7.3 เมตร สามารถรองรับที่นั่งทั้งหมด 20 ที่นั่ง บวก 1 ที่นั่งคนขับ มาพร้อมกับแบตเตอรี่ลิเธียม
ขนาด 111.4 kWh รวมทั้งขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์หลังขนาด 120 kW และสามารถวิ่งได้ในระยะทาง
100 – 150 กิโลเมตรต่อ 1 การชาร์จ
โดยมีการติดอุปกรณ์เพิ่มเติม

การทดลองนั่งรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ

         รถบัสไฟฟ้าไร้คนขับมีการแบ่งจุดจอด หรือ Bus Stop ทั้งหมด 4 สถานี ซึ่งแต่ละจุดเป็นจุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทย

         เมื่อเราเข้ามาในรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ จะเห็นได้ว่าจะมีคนขับอยู่ เนื่องจากว่ารถบัสไฟฟ้าไร้คนขับคันนี้จัดอยู่ในเลเวลที่ 3 ซึ่งจะต้องมีคนขับ (คุณเอ็ม) คอยเป็นผู้บังคับการเข้าควบคุมในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ถึงแม้ว่าจะยังไม่ถึงกับรถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่มีคนขับ แต่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

         ต่อมาเราจะเริ่มออกเดินทาง เพื่อดูการการทำงานของรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ

         ตอนนี้เรากำลังอยู่ในช่วงที่ลองรถขับขี่แบบไร้คนขับ หรือ Autonomous Driving  ซึ่งระบบไร้คนขับเลเวล 3
จะมีการเปลี่ยนเลนเอง รวมถึงมีการใช้ระบบช่วยเตือนการขับรถให้อยู่ในช่องทาง (Lane-keeping System) 

และ Adaptive Cruise Control หรือ ระบบควบคุมความเร็วให้คงที่

         การทดลองขับรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับจะใช้ความเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง จากการเป็น
รถที่พาเที่ยวและชมวิว
         ถ้าดูจากเส้นทางที่หน้าจอ จะแสดงเส้นทางการวิ่งประจำในเส้นทางเดิมและสิ่งแวดล้อมแบบเดิม
เพื่อให้เกิดการเรียบรู้ โดยข้อมูลที่มีการวบรวม จะนำไปพัฒนาต่อ

         ส่วนจอต่อมาจะเปรียบเสมือนกับ AI จะเห็นได้ว่ามีการตรวจจับสิ่งรอบข้าง โดยส่วนสีฟ้าจะเป็นรถยนต์
ส่วนสีชมพูจะเป็นมอเตอร์ไซค์ที่ขับเคลื่อนอยู่ หรือเป็นบุคคลที่กำลังเดิน

         โดยที่ภายนอกตัวรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ จะมีการติดตั้งไลดาร์ (LiDAR : อุปกรณ์ที่ใช้แสงเพื่อตรวจจับและคาดคะเนระยะทางของวัตถุ) จำนวนทั้งหมด 6 ตัว อยู่รอบตัวรถในแต่ละด้าน

         ซึ่งไลดาร์จะทำการประมวลและบอกแนวทางการเคลื่อนที่ในการขับรถ โดยสามารถสังเกตได้จากสี
เมื่อเส้นสีเขียว หมายความว่า รถสามารถวิ่งได้ แต่ถ้าเป็นสีส้ม หรือสีแดง รถจะเริ่มชะลอตัวลง หรือหยุดรถ
เนื่องจากเซ็นเซอร์อาจจะจับได้ว่ารถยังไปไม่ได้

         หลักการของไลดาร์ จะเป็นการยิงคลื่นสะท้อนกลับมาและมาพอตเป็นแผนที่ 3 มิติ รวมถึงมีการแสดงผลสิ่งเคลื่อนไหวแบบเรียลไทม์
         ในช่วงที่เรากำลังนั่งรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับจะมีบางจังหวะ ที่มีรถจอดอยู่ขวางเลนที่ 2 ถ้ารถวิ่งใน
โหมด Autonomous Driving จะต้องรอจนกว่ารถคันข้างหน้าจะออกตัว ส่งผลให้ทางคนขับจะต้องขับแบบ Manual
เพื่อทำการเลี้ยวหักออกมา รวมทั้งมีจังหวะที่จะต้องแซง หรือจังหวะรถที่วิ่งพลุกพล่าน จึงต้องใช้คนคอยบังคับก่อน เนื่องจากระบบยังไม่ฉลาดมากเพียงพอ ดังนั้นการใช้โหมด Autonomous Driving จะอยู่ในสภาวะปกติ

         เราจะมาดูที่หน้าจอของส่วนคนขับ

         ซึ่งหน้าจอส่วนนี้จะใช้สำหรับการเลือกสถานี เผื่อดูระยะทางของรถ ว่ารถสามารถวิ่งไปข้างหน้า 
และการมีสิ่งกีดขวาง ตามที่ไลดาร์สามารถตรวจจับได้

         อย่างตอนนี้จะเห็นได้ว่ามีรถจอดชิดซ้ายที่กินเลนเข้ามา จะต้องทำการขับแบบ Manual เพื่อทำการขับเบี่ยง
รถออกมา

         ส่วนคนขับกดที่หน้าจอด้านบน จะเป็นจอควบคุมสำหรับการเลือกสถานีที่ต้องการและให้วิ่งแบบ Auto
         ส่วนหน้าจอด้านล่างจะแสดงภาพจากกล้องของตัวรถ ดังนั้นรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับจะมีการใช้งานทั้งไลดาร์และกล้อง

       ดังนั้น กล้องจึงเปรียบเสมือนกับดวงตา ส่วนไลดาร์จะเปรียบเสมือนกับหู โดยกล้องจะจำนวนทั้งหมด 4 ตัว
อยู่ที่ด้านหน้า ด้านท้าย และภายในตัวรถ

         นอกจากนี้หน้าจอที่แสดงผลการตรวจจับสิ่งที่เคลื่อนไหว จะสามารถตรวจจับช้าง เนื่องจากอุทยานใน
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะมีช้างเดินบนท้องถนน

        และเราจะขอแนะนำ ดร. ยศพงษ์ ลออนวล (อาจารย์ต้น) หัวหน้าโครงการรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ
ซึ่งอาจารย์เป็นผู้ดูแลเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นกลุ่มแรก ๆ และผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

         ปัจจุบันอาจารย์ต้นเป็นอดีตนายกสมาคมกิตติมศักดิ์ยานยนต์ไฟฟ้าแห่งประเทศไทย ที่ยังคงให้การช่วยเหลืออยู่ รวมถึงเป็นหัวหน้าสถาบันศูนย์วิจัย Mobility & Vehicle Technology Research Center (MOVE)
ซึ่งโครงการรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับของอาจารย์ต้นจะอยู่ภายใต้ของศูนย์วิจัย MOVE มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี
พระจอมเกล้าธนบุรี
         กล่าวถึงรถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถต่อยอดเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบไร้คนขับ จากคำถามที่ว่ารถบัสไฟฟ้าเป็นของ NEX หมายความว่า สามารถทำการซื้อรถบัสไฟฟ้า และนำมาใส่อุปกรณ์เสริม ซึ่งทางอาจารย์ต้นบอกถึงภาพรวมของโครงการรถบัสไฟฟ้าที่ได้รับทุนมาจาก กทปส. (กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์
และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ)
เป็นกองทุนที่อยู่ภายใต้ กสทช. โดยเป็นผู้ให้บริการดูแลกำกับ
ทางด้านเครือข่าย และสัญญาณการสื่อสารต่าง ๆ
         ซึ่งที่มาของโครงการดังกล่าวมาจากการตั้งโจทย์ให้ทางอาจารย์ต้นทำการพัฒนาของรถบัสไฟฟ้าแบบ Autonomous Driving หรือเทคโนโลยีไร้คนขับ ตั้งแต่ระดับเลเวล 3 ขึ้นไป โดยให้วิ่งรอบบึงพระราม
และจะต้องมีการเชื่อมต่อสัญญาณ 5G ยกตัวอย่าง การเรียกรถ จะใช้แอปพลิเคชัน ทำให้ทราบถึงตำแหน่งของ
รถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ
         การที่รถยนต์ไฟฟ้าเกี่ยวกับเรื่องของ Autonomous Driving จะเกี่ยวข้องกับเครื่องมือสื่อสาร
ที่กลายเป็นแพลตฟอร์มเรียบร้อยแล้ว ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นแพลตฟอร์มพื้นฐานที่สามารถต่อยอดเป็น Autonomous Vehicle (AV) หรือ Connected Autonomous Vehicles (CAV)
         จากการรถบัสไฟฟ้าแบบไร้คนขับต้องมีการเชื่อมต่อ จึงต้องมีอุปกรณ์อื่น ๆ โดยจะเริ่มที่ภายนอกของตัวรถ
คือ ไลดาร์ ที่มีการติดตั้งจำนวนทั้งหมด 6 ตัว แบ่งเป็นด้านหน้า จำนวน 2 ตัว, ด้านบนจำนวน 2 ตัว และด้านข้างจำนวน 2 ตัว

         รวมทั้งมีเรดาร์ที่อยู่ด้านหน้าของรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ จะยิงความถี่ไปที่รถยนต์ที่อยู่ข้างหน้า
ดังนั้นไลดาร์จะเปรียบเสมือนกล้องที่มีความละเอียดสูงกว่า โดยถือว่าเป็นดวงตา หรือหูรถ ที่ใช้ในการรับรู้
และทำการประเมินผล

ระดับเลเวลของเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติ มีดังต่อไปนี้

1. ระดับ 0 No Automation

         เป็นรถยนต์ที่ไม่มีระบบอัตโนมัติมาช่วยในการขับ

2. ระดับ 1 Driver Assistance

        เป็นรถยนต์ที่เริ่มมีตัวช่วยในการขับ โดยจะใช้เซ็นเซอร์และกล้องในการควบคุมความเร็วแบบรักษาระยะทางอัตโนมัติ (Adaptive Cruise Control) ควบคุมความเร็วรถไม่ให้ใกล้กับคันก่อนหน้าจนเกินไป หรือจะเป็นเรื่องของ Foot off เป็นระบบสามารถควบคุมเครื่องยนต์ให้ทำงานในความเร็วที่กำหนด

3. ระดับ 2 Partial Automation

        จะเป็น Hand off ซึ่งระบบสามารถควบคุมความเร็ว การเบรก และควบคุมรถให้อยู่ในเลน โดยผู้ขับขี่สามารถปล่อยมือจากพวงมาลัยได้ชั่วขณะ

4. ระดับ 3 Conditional Automation

        จะเรียกว่า Eye off ระบบทำหน้าที่ควบคุมยานยนต์ตลอดเวลา ผู้ขับขี่ที่นั่งอยู่ไม่ต้องทำหน้าที่ควบคุมบังคับรถ (ยกเว้นบางสถานการณ์)

5. ระดับ 4 High Automation

        จะเป็นระดับที่การควบคุมการทำงานรถยนต์ไฟฟ้าเป็นแบบระบบอย่างอัตโนมัติทั้งหมด โดยคนขับไม่จำเป็น
ต้องสนใจในการขับขี่ (Hands Off, Mind Off) แต่มีข้อแม้ว่ารถจะต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แน่นอน มีการควบคุมในระดับหนึ่ง รวมถึงสามารถคาดการณ์ได้ ดังนั้นจึงต้องมีคนขับอยู่ เพื่อเข้าควบคุมการทำงานในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นครั้งคราว

6. ระดับ 5 Complete Automation

        จะเป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติโดยสมบูรณ์ สามารถจัดการควบคุมและตัดสินใจในเหตุการณ์ต่าง ๆ
จึงไม่จำเป็นจะต้องมีคนขับอีกต่อไป (Body Off)

         ปัจจุบันรถบัสไร้คนขับจัดอยู่ในเลเวล 3 โดยคนขับยังคงมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งในการขับรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ
จะต้องมีการจัดทำแผนที่ที่มีความละเอียดสูง กล่าวคือ ในช่วงก่อนที่รถบัสไฟฟ้าไร้คนขับจะทำการวิ่ง
จะมีทีมมาจัดทำแผนที่รอบบึงพระรามจากการใช้ไลดาร์ เพื่อให้เห็นมิติทั้งหมดของรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ

         ซึ่งทางโจทย์ของ กสทช. มีการกำหนดพื้นที่เป็นอุทยานเพียงอย่างเดียว เพื่อใช้ในการท่องเที่ยว
         จากการติดอุปกรณ์ อาทิ ไลดาร์ และเรดาห์ ที่เหมือนกับหูกับตาของตัวรถ ในส่วนของการประมวลผล
จะมีโปรแกรม Open Platform ชื่อ Auto Way โดยทางทีมงานมีการพัฒนาร่วมกับบริษัทเอไทม์
รวมทั้งบริษัทที่มีความชำนาญ เพื่อทำการไฟล์จูนในระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

         หลังจากนั้นจะทำการควบคุมในการขับ จะเห็นได้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าของบริษัท NEX จะขับเคลื่อนระบบไฟฟ้าที่คันเร่ง โดยที่ในส่วนของพวงมาลัยและเบรก จะไม่มีระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า
         เพราะฉะนั้นทางอาจารย์ต้นจึงต้องทำระบบ เรียกว่า Drive by wire ประกอบด้วย
             1. ระบบบังคับพวงมาลัยด้วยสัญญาณไฟฟ้าผ่านมอเตอร์ที่ติดตั้งบริเวณก้านพวงมาลัย เพื่อควบคุม
การหมุนของพวงมาลัย
             2. ระบบเบรกด้วยสัญญาณทางไฟฟ้าผ่านมอเตอร์ที่ติดตั้งบริเวณแป็นเบรก
             3. ระบบสั่งการคันเร่งด้วยสัญญาณทางไฟฟ้าที่จะควบคุมการเปลี่ยนความเร็วของรถ
         ระบบย่อยทั้ง 3 ระบบข้างต้น จะถูกควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งอยู่บริเวณที่เก็บสัมภาระหลังคนขับ
โดยมีฟังก์ชันสั่งการในการทำงาน 7 อย่าง คือ การเร่ง การเบรก การหมุนของพวงมาลัย การสตาร์ทรถ
การเปลี่ยนเกียร์ การเปิดปิดไฟเลี้ยว และการทำงานของแตร ระบบอัตโนมัติจะทำหน้าที่ควบคุมรถแทนคนขับทั้งหมด

         ซึ่งการที่รถบัสไฟฟ้าระดับเลเวล 3 มาวิ่งในถนนจริงภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอน อาทิ รถแซงซ้าย รถวิ่งช้า
จะต้องมีประมวลผลสั่งการว่าต้องทำการชะลอรถ หรือวิ่งในความเร็วที่ต่ำลง และเปิดไฟเลี้ยว เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติระดับเลเวล 3 จะมีเงื่อนไขในการสั่งการ
         จากพื้นที่บนท้องถนนที่มี 4 เลน เมื่อมีรถจอดอยู่ข้างหน้า รถสามารถแซงขวา เพื่อขับตรงต่อไป
แต่ถ้าเป็นพื้นที่ 2 เลน จะมีเส้นทึบ เมื่อรถจอดอยู่ข้างหน้า จะไม่สามารถแซงขึ้นมา เนื่องจากผิดกฎหมาย
จึงต้องให้คนขับทำหน้าที่ในส่วนนี้ โดยมีการกำหนดให้รถบัสไฟฟ้าไร้คนขับอยู่ในเลนถนน และไม่ให้แซงออกจากเลน จึงต้องมีการพิจารณาในเรื่องของเงื่อนไขตามกฎหมาย
         ส่วนของงบประมาณการทำโครงการรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับจะอยู่ที่ประมาณ 20 กว่าล้านบาท
เนื่องจากโครงการประกอบด้วยหลายส่วน คือ เรื่องของการพัฒนารถ การพัฒนาระบบ และการติดตั้งสถานีชาร์จ ซึ่งเป็นต้นทุนในการทำรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้น 1 คัน หากในอนาคตข้างหน้ามีรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับจำนวนมากขึ้น
จะส่งผลให้ต้นทุนถูกลง
         นอกจากนี้รถบัสไฟฟ้าไร้ตคนขับ จะทำการวิ่งทดสอบถึงสิ้นเดือน กรกฎาคม 2567 เพื่อทำการเก็บข้อมูล
สิ่งที่จะได้รับผลตอบกลับจากโครงการรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ ทางอาจารย์ต้นบอกว่าอยากให้โครงการนี้เป็นประโยชน์ในอนาคต ส่วนในมุมของการพัฒนาต่อยอด อยากจะให้เห็นว่าเทคโนโลยี Autonomous Vehicle (AV) หรือ Connected Autonomous Vehicles (CAV) กำลังเป็นเทรนด์ที่เริ่มจะเข้ามา ดังนั้นเทคโนโลยีไร้คนขับจึงเป็นเป้าหมายในอนาคต ซึ่งจะต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งในเรื่องของกฎหมาย การเก็บข้อมูล และผู้ถือ Database (ฐานข้อมูล) ที่เป็นข้อมูลส่วนตัว ที่จำเป็นจะต้องทำการศึกษาเพิ่มเติม
         รวมทั้งโครงการดังกล่าวมีการร่วมมือและการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน นอกเหนือจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยพาร์ทเนอร์หลัก คือ บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ TKC บริษัท เจ็นเซิฟ จำกัด รวมถึงบริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) (NEX) จะช่วยสนับสนุนในเรื่องของเทคนิคของตัวรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ ส่วนทางผู้ให้กองทุนย่อมเป็นส่วนสำคัญที่เป็นแรงผลักดันช่วยขับเคลื่อนโครงการ
รวมถึงทางเทศบาลที่เข้าร่วมพิธีเปิดตัววรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบ มาช่วยอำนวยความสะดวกให้การทดลอง
การวิ่งของรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ ส่งผลให้ทางอาจารย์ต้นมีความต้องการโปรโมทโครงการดังกล่าวต่อไป
         สรุป สำหรับวันนี้ที่เราที่พาเที่ยวรอบอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (บึงพระราม)
โดยใช้รถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ หรือ Autonomous Driving ทางอาจารย์ต้นกล่าวว่าโครงการดังกล่าวเป็น
โครงการเริ่มต้นที่มีทีมงานร่วมจัดทำเป็นจำนวนมาก โดยทางอาจารย์ต้นจะเป็นผู้ทำในส่วนของ
ระบบ System Indication ให้กับโครงการ
         จากโครงการดังกล่าวจะเห็นได้ว่าคนไทย รวมถึงบริษัทในประเทศไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติ และสามารถนำไปต่อยอดไปในอนาคต เพื่อยกระดับจากเลเวลระดับ 3 เพื่มขึ้นเป็นระดับ 4 และระดับ 5
โดยเทคโนโลยีเหล่านี้มีความต้องการคนที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านระบบ AI และ Machine Learning
เพื่อทำการพัฒนาระบบให้สามารถคิดได้เหมือนกับมนุษย์ ทั้งนี้ เทคโนโลยีเหล่านี้คาดว่าน่าจะสามารถพัฒนาในประเทศไทย โดยมีการร่วมมือกับนักวิจัยจากต่างประเทศ รวมทั้งมีการจัดทำระบบให้มีความเสถียร
สามารถใช้งานจริง และทำเป็นเชิงพาณิชย์

         และนี้คือเรื่องราวของรถบัสไฟฟ้าไร้ขับคนขับ หากคุณสนใจในเรื่องราวดังกล่าวสามารถรับชมได้ที่คลิปด้านล่าง แล้วถ้าคุณชอบคลิปนี้ขอฝาก กด LIKE กด SHARE กดSUBSCRIBE ที่ช่องของพวกเราด้วยนะครับ

Share

FOLLOW US


WELLDONE GUARANTEE

452 Pecthkraseam Rd. Laksong Bangkhae, Bangkok 10160
Email : welldone.guarantee@gmail.com Tel. 0889415944

Copyright © 2022 EV GUARANTEE All rights reserved.