ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศให้ความสำคัญในเรื่องของการใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาด
ไม่ว่าจะเป็นพลังงานจากลม หรือพลังงานจากแสงอาทิตย์โดยใช้โซล่าเซลล์ ซึ่งในหลายประเทศมีการลงทุนทำ
Solar Farm เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า
ปัจจุบันความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้ามีมากขึ้นแบบก้าวกระโดด จากเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถ EV
เห็นได้จากในหลายประเทศที่ผลักดันเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากปัญหาสภาวะโลกร้อน อย่างประเทศจีนที่มีประชากรใช้รถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 4 ล้านคัน ส่งผลให้ความต้องการใช้
พลังงานไฟฟ้าเติบโตมากขึ้นตามมา
แต่มีประเด็นที่คนให้ความเห็นว่า การใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะไม่ช่วยตอบโจทย์เรื่องของรักษ์โลก เพราะว่ามีการใช้พลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน หรือฟอสซิล ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าออกมา
สำหรับปัจจุบันในหลายประเทศลดการพึ่งพาการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลและถ่านหิน เพื่อลดการปล่อย
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามข้อตกลงของ UN คือ Carbon Neutrality หรือการเป็นกลางทางคาร์บอนร่วมกัน
ล่าสุดจากสถาบัน Rocky Mountain Institute (RMI)
ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยและให้คำปรึกษาด้านความยั่งยืน เปิดเผยรายงานฉบับหนึ่งว่าปัจจุบันความต้องการใช้
เชื้อเพลิงฟอสซิลของภาคพลังงาน หรือโรงไฟฟ้าที่เป็นพลังงานฟอสซิลได้ผ่านจุดสูงสุดมาเรียบร้อยแล้ว และกำลังจะลดลงสู่ก้นเหวภายในปี 2030 หรืออีก 7 ปี ข้างหน้า
โดยในหลายประเทศเริ่มแบนโรงไฟฟ้าที่เป็นถ่านหิน หรือฟอสซิล และหันมาใช้โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน
ที่ในปี 2023 จะมีสัดส่วนของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน อาทิ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ เท่ากับ 12% ของ
การผลิตพลังงานไฟฟ้าทั่วทั้งโลก หรืออยู่ที่ 350 Gigawatt
ถ้าคิดว่าจำนวน 12% เป็นพลังงานไฟฟ้าจากการใช้โซล่าเซลล์ จะมีแผงโซล่าเซลล์จำนวนทั้งหมด 70 ล้านแผง
ในอนาคตปี 2030 สัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด หรือพลังงานทดแทน จะเพิ่มมากขึ้นจาก 12% กลายเป็น 33% หรือเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว ถ้าคิดเป็นการใช้โซล่าเซลล์จาก 70 ล้านแผง จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 200 ล้านแผง แสดงให้เห็นถึงความต้องการใช้พลังงานสะอาดที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ทำให้ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง
โดยปัจจุบันลดลงอยู่ที่ 16 – 30%
จากการผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ลดน้อยลง ส่งผลให้ต้นทุนก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน น้ำมัน
มีราคาที่แพงมากขึ้น
ในวันนี้มีเทคโนโลยีที่รองรับพลังงานสะอาดทั้งหลาย โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หากมองย้อนกลับไปใน
ปี 2012 – ปี 2022 ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีเรื่องของแบตเตอรี่อย่าง แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน มีราคาที่ถูกลงมากกว่า 80%
ส่วนต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม หรือพลังงานแสงอาทิตย์ มีราคาที่ถูกลงมากกว่า 80% เช่นกัน
โดยในปี 2023 ต้นทุนจากพลังงานแสงอาทิตย์และลมอยู่ที่ 40 USD หรือตีเป็นเงินไทยประมาณ 1,200 บาท/MWh
ซึ่งเป็นราคาที่เท่ากับพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าถ่านหิน และราคาต้นทุนมีแนวโน้มถูกลง
อย่างต่อเนื่อง โดยภายในปี 2030 จะถูกลงเหลือ 25 – 28 USD หรือประมาณ 900 บาท/MWh
หากเปรียบเทียบการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินจะอยู่ที่ขอบล่างแล้ว แต่การใช้โซล่าเซลล์ที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นและมีแนวโน้มราคาที่ถูกลงมากกว่า ซึ่งการใช้ถ่านหินจะมีต้นทุนในเรื่องของขอสัมปทานเหมือง ค่าแรงงาน
ค่าเครื่องจักร จะมีราคาถูกที่สุดอยู่ที่ 40 USD/MWh
ปัจจุบันทั่วโลกมีการประมาณการติดแผงโซล่าเซลล์ไปแล้วมากกว่า 350 Gigawatt หรือ 12% ของการผลิตพลังงานไฟฟ้าทั่วทั้งโลก โดยมีจำนวนแผงโซล่าเซลล์ประมาณ 70 ล้านแผง ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น
ซึ่งถ้าคิดที่โรงไฟฟ้า 1 MWh จะต้องใช้แผงโซล่าเซลล์อย่างน้อย 2,000 แผง แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไป
ที่แผงโซล่าเซลล์หมดอายุการใช้งานพร้อมกันจะเป็นอย่างไร
ประเทศที่ใช้แผงโซล่าเซลล์ในการผลิตพลังงานไฟฟ้ามากที่สุด
อันดับ 1 คือ ประเทศจีน
เป็นประเทศที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซล่าเซลล์อยู่ที่ 148 Gigawatt หรือคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 45% ของพลังงานไฟฟ้าทั่วทั้งโลกที่ใช้พลังงานสะอาด
และประเทศจีนเป็นผู้ผลิตแผงโซล่าเซลล์มากที่สุดและมีราคาถูกที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก
อันดับที่ 2 คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากแผงโซล่าเซลล์มากถึง 40.5 Gigawatt แต่น้อยกว่าประเทศจีนประมาณ 3 เท่า เพราะว่าประเทศจีนไม่มีเชื้อเพลิงน้ำมัน จึงต้องเร่งเรื่องของพลังงานไฟฟ้า แต่ประเทศสหรัฐอเมริกามีทางเลือก
ทำให้เติบโตได้ช้ากว่า
อายุของแผงโซล่าเซลล์
แผงโซเซลล์ที่ใช้ในปัจจุบันจะเป็นแบบ Monocrystalline Silicon Solar Cells ซึ่งจะมีอายุการใช้งานอยู่ที่
25 -30 ปี
แต่ในความเป็นจริงอายุการใช้งานอาจจะน้อยกว่านั้น จากเรื่องของความร้อนที่ส่งผลให้แผงโซล่าเซลล์
เสื่อมสภาพเร็วขึ้น
จำนวนของแผงโซล่าเซลล์ที่หมดอายุการใช้งานจะสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยมีการคาดการณ์ภายในปี 2050 ทั่วโลกจะมีแผงโซล่าเซลล์จากโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 78 ล้านตัน ที่ประเทศไทยมีแผงโซล่าเซลล์ที่หมดอายุการใช้งานจำนวนเท่ากับ 4 แสนตัน
ดังนั้นจึงต้องมีการวางแผนเพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการ ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
สำหรับแผงโซล่าเซลล์ที่เสียหายและหมดอายุการใช้งานในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะนำไปกำจัดโดยใช้วิธีฝังดิน
ซึ่งมีราคาต้นทุนที่ต่ำกว่าการรีไซเคิลที่ลงทุนในเรื่องของโรงงานและเครื่องจักร
แต่การใช้วิธีฝังดินในระยะยาวจะเกิดปัญหาเรื่องของมลพิษ เพราะในแผงโซล่าเซลล์มีส่วนผสม
จำพวกโลหะหนัก อาทิ ทองแดง ซิลิกอน ที่เป็นอันตราย หากเมื่อนำไปฝังดินเกิดฝนตกลงมาชะล้างและปนเปื้อน
ลงไปในแหล่งน้ำ
ดังนั้นในหลายประเทศเริ่มมีการควบคุม หากต้องการทิ้งขยะจำพวกอิเล็กทรอนิกส์ พลังงานสะอาดอย่าง
แผงโซล่าเซลล์ จะต้องเสียภาษีการกำจัด ส่งผลให้การคิดภาษีจากการใช้วิธีฝังดินสูงขึ้น
จึงเป็นโอกาสให้กับบริษัทใหม่ ๆ ที่เล็งเห็นจากปัญหาดังกล่าว โดยจะทำบริษัทรีไซเคิลเพื่อรองรับแผงโซล่าเซลล์ที่จะหมดอายุการใช้งานในอนาคต
บริษัท SOLARCYCLE สัญชาติอเมริกัน
ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเรื่องของขยะเทคโนโลยีพลังงานสะอาด โดยตั้งโรงงานรีไซเคิลอยู่ที่รัฐเท็กซัส
ซึ่งเขามองว่าแผงโซล่าเซลล์สามารถนำมารีไซเคิลแยกวัสดุออกมาได้มากถึง 95%
ซึ่งวัสดุที่รีไซเคิลได้จะมีจำพวกแก้ว ซิลิกอน ทองแดง แร่เงิน ที่สามารถขายต่อกลับไปที่ผู้ผลิตแผงโซล่าเซลล์
หากมองต้นทุนการรีไซเคิลอาจยังไม่คุ้มค่าเพราะมีราคาต้นทุนอยู่ที่ 20 – 60 USD หรือตีเป็นเงินไทยเท่ากับ 600 – 1,200 บาท/แผง
แต่ในอนาคตราคาต้นทุนของเทคโนโลยีการรีไซเคิลจะถูกลงอย่างต่อเนื่องในอีก 5 – 10 ปี ส่วนแผงโซล่าเซลล์ที่หมดอายุการใช้งานและพร้อมรีไซเคิลจะมีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากบริษัทที่ทำการวิจัยตลาดรีไซเคิลแผงโซล่าเซลล์จะเติบโตอย่างรวดเร็ว ภายในปี 2030 โดยจะมีมูลค่าตลาด
เพิ่มขึ้นจาก 170 ล้าน เป็น 2.7 พันล้าน และจะกลายเป็น 8 หมื่นล้าน USD ภายในปี 2050
ดังนั้นถ้าใครเล็งเห็นเรื่องนี้ได้ก่อนและทำการลงทุนก่อน ก็จะมีสิทธิ์คว้าโอกาสทำธุรกิจใหม่ได้
รายได้จากการรีไซเคิลแผงโซล่าเซลล์
องค์ประกอบของแผงโซล่าเซลล์
จะมีองค์ประกอบหลัก คือ กรอบ Aluminium Frame, Tempered Glass หรือกระจกบานหน้าที่รองรับแรงกระแทกไม่ให้แผ่น Wafer สำหรับการผลิตพลังงานไฟฟ้าที่อยู่ข้างในเกิดการเสียหาย ต่อมาจะเป็น
Silicon Wafer ที่อยู่ด้านใน
1. กระจก
ตีเป็นมูลค่าอยู่ที่ 70 – 80% ของมูลค่าแผงโซล่าเซลล์ ทำหน้าที่ป้องกันเซลล์แสงอาทิตย์หรือตัวโซล่าเซลล์ ราคาของกระจกที่สามารถนำมารีไซเคิลได้อยู่ที่ประมาณ 20 USD/แผง ขึ้นอยู่กับคุณภาพของตัวกระจก
2. Silicon Wafer
ตีเป็นมูลค่าอยู่ที่ 10 – 15% ของมูลค่าแผงโซล่าเซลล์ จะสกัดจำพวกสารซิลิกอนออกมาเป็นผง เพื่อนำไปผลิต Silicon Wafer ใหม่ ซึ่งราคาของซิลิกอนที่เอามารีไซเคิลอยู่ที่ประมาณ 2 – 10 USD/ kg
3. เฟรม
ตีเป็นมูลค่าอยู่ที่ 10 – 20% ของมูลค่าแผงโซล่าเซลล์ ซึ่งเฟรมอะลูมิเนียม สามารถนำมาหลอมละลาย
ขายได้อยู่ที่ประมาณ 1.2 – 1.8 USD/ kg
เมื่อคิดโดยรวมแผงโซล่าเซลล์ที่หมดอายุการใช้งาน 1 แผง สามารถนำมารีไซเคิลและทำเงินได้อยู่ที่
20 – 50 USD ตีเป็นเงินไทยเท่ากับ 600 – 1,500 บาท/แผง
ซึ่งโรงไฟฟ้าโซล่าเซลล์ 1 MWh มีจำนวนแผงโซล่าเซลล์อย่างน้อย 2,000 แผง เมื่อคิดที่แผงละ 600 บาท
จะสามารถทำเงินได้ถึงล้านกว่าบาท
สรุป หลายประเทศมุ่งหน้าในการพึ่งพาการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาด หรือ
พลังงานหมุนเวียนอย่าง Solar Farm ที่เทคโนโลยีการผลิตพลังงานไฟฟ้า มีราคาที่ต่ำกว่าการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินและไม่เกิดมลภาวะ
ซึ่งการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์กำลังจะเติบโตแบบก้าวกระโดดภายในปี 2030 แต่เมื่อถึงเวลาที่
แผงโซล่าเซลล์หมดอายุการใช้งาน การเอากลับมารีไซเคิลจะสร้างประโยชน์อย่างมาก ทั้งในเรื่องของ
ลดการใช้ทรัพยากรของโลก ลดการเป็นภาวะเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้วิธีฝังดิน เพราะแผงโซล่าเซลล์มี
ซิลิกอนโลหะหนักที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม หากมีการปนเปื้อนลงไปในดินและน้ำ
นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างเศรษฐกิจใหม่ จากมูลค่าการรีไซเคิลเฉพาะแผงโซล่าเซลล์อย่างเดียว
สามารถเติบโตได้สูงสุดถึง 8 หมื่นล้าน USD เป็นโอกาสสำหรับธุรกิจใหม่ที่หากใครทำการศึกษาและลงทุนก่อน
คุณดูรายละเอียดเรื่องนี้ได้จากคลิปด้านล่าง หากคุณชอบคลิปนี้ขอฝาก กดLIKE กด SHARE
กด SUBSCRIBE ที่ช่องของพวกเราด้วยนะครับ