[ประเด็นดัง] ซื้อรถEV แต่จดทะเบียนไม่ได้!? ต้องดูตรงไหน? เตือนภัยไม่ให้โดนหลอก (คุยกับกรมขนส่ง)

           วันนี้เรามาอยู่ที่กรมการขนส่งทางบก จัตุจักร จากข่าวคนซื้อรถยนต์ไฟฟ้าแต่ไม่สามารถจดทะเบียนได้
ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ณ เวลานี้ ที่สร้างความกังวลไม่มั่นใจสำหรับคนที่สนใจจะมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้นวันนี้
เราจะมาพูดคุยเจาะลึกเรื่องนี้กับทางผู้ที่ดูแลโดยตรง

         ทางคุณจักรกฤช ตั้งใจตรง หรือคุณยอด เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิศวกรรมยานยนต์สำนักวิศวกรรม
ยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก จะมาเป็นผู้ให้ข้อมูลและคำตอบกับทางเราครับ

        รถยนต์ไฟฟ้าที่มีการใช้ในประเทศไทยจำนวนมาก โดยมีค่ายรถที่เข้ามาทำตลาดและผู้นำเข้าอิสระ วันนี้เราจะมาเจาะประเด็นต่าง ๆ จากข่าวกัน

ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าวันนี้ ค่ายไหนจดทะเบียนถูกต้องบ้าง

         ในส่วนของกรมการขนส่งทางบกมีหน้าที่หลัก คือ การพิสูจน์หรือตรวจสอบให้รถมีความมั่นคงและปลอดภัย ก่อนที่จะนำมาใช้งานบนท้องถนน โดยจะมีกระบวนการที่ทำกับรถทุกคันไม่ใช่เพียงเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า คือ
การรับรองแบบรถ หรือที่สากลเรียกว่า ระบบ Type Approval เพื่อตรวจสอบว่ารถมีความมั่นคงแข็งแรงปลอดภัย รวมทั้งมีการตรวจสอบเรื่องของสเปคว่าต้องเป็นไปตามที่บริษัทแสดงข้อมูลทั้งหมด คือ ลักษณะของรถตัวจริงต้องตรงกับแบบดีไซด์ ถึงจะทำการรับรองและเมื่อทำการรับรองแล้วจึงจะนำรถไปจดทะเบียนได้

มีรถยนต์ไฟฟ้าค่ายไหนที่จดทะเบียนถูกต้องแล้วบ้าง

         โดยจะเป็นค่ายรถที่เป็นผู้ผลิตส่วนใหญ่ มีค่าย MG, BYD, รถ ORA รุ่นต่าง ๆ, NATA และตงฟง (DFSK) คือ
รถ VOLT ซึ่งสามารถจดทะเบียนได้ทั้งหมด

         เราค่อนข้างจะมุ่งเน้นกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็น Eco Car หรือรถที่มีราคาเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งคนเกิดความไม่มั่นใจ
ในเรื่องของคุณภาพจากการติดภาพลักษณ์ของแบรนด์จีน ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน แต่ตอนนี้
เราสามารถมั่นใจได้แล้วว่าสามารถตรวจสอบและจดทะเบียนได้อย่างถูกต้อง

แบรนด์ POCCO จดทะเบียนได้หรือยัง

           จากที่เรามาคุย ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2566 แบรนด์ POCCO  ทางคุณยอดชี้แจงว่าปัจจุบันทาง POCCO
ยังไม่ได้รับการรับรองแบบกับกรมการขนส่งทางบก เพราะทาง POCCO ไม่ได้ยื่นเอกสารเพิ่มเติม ประกอบกับเคยมีการประสานงาน แล้วพบว่ามีเรื่องที่ติดขัดหลายเรื่อง ซึ่งจะเป็นเรื่องข้อมูลทางเทคนิคของ POCCO และไม่มีการยื่นผลการทดสอบให้กับกรมการขนส่งทางบก จึงไม่สามารถทำการรับรองได้ เนื่องจากข้อมูลไม่ครบถ้วน

          การที่ทาง POCCO เป็นผู้นำเข้าแบบอิสระอาจจะมีส่วน เพราะเรื่องของธุรกิจยานยนต์เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ 

ในแต่ละประเทศจะมีกระบวนการการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงที่แตกต่างกัน แต่ปัจจุบันที่กรมการขนส่งทางบกจะใช้ มาตรฐานของ UN เป็นหลัก มี 50 ประเทศทั่วโลกใช้อยู่ และประเทศไทยพยายามเป็นหนึ่งในประเทศที่จะไปตามมาตรฐานสากลนั้น ซึ่งกระบวนการรับรองนี้มีการทำทั้งในยุโรป ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศญี่ปุ่น
          ส่วนประเทศจีนอาจจะทำได้ลำบาก เนื่องจากมีระบบของตัวเอง เพราะถือว่าเป็นเจ้าแห่งวงการยานยนต์ด้วยเช่นกัน จึงเป็นปัญหาระดับโลกที่ทางประเทศไทยพยายามหาทางออก แต่ปัจจุบันรถยนต์จากประเทศจีนส่วนใหญ่ได้ทำตามมาตรฐานของ UN  แล้ว เพราะมีการส่งออกที่ยุโรป

          การนำรถยนต์ไฟฟ้ามาขายที่ประเทศไทยจะมีอยู่ 2 แบบ คือ

                1. มีการแต่งตั้งตัวแทนที่ถูกต้องอย่างเป็นทางการ หรือมีการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ประเทศไทย อาทิ ค่าย MG ค่าย GMW เป็นต้น ซึ่งทางบริษัทใหญ่จะสนับสนุนด้านของข้อมูลทุกอย่าง เพื่อดำเนินการกระบวน
การรับรองแบบ โดยมีการส่งผลการทดสอบ

                2. ผู้นำเข้า ทางกรมการขนส่งทางบกไม่แน่ใจถึงที่มาของกระบวนการการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าเข้ามา
รวมถึงได้มีการติดต่อกับทางบริษัทใหญ่ด้วยหรือไม่ ในบางครั้งการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาจำนวนหนึ่งและ
เป็นการขายตัดหน้าบริษัทใหญ่ และต้องการให้บริษัทใหญ่สนับสนุนด้านข้อมูล เป็นที่แน่นอนว่าทางบริษัทใหญ่ย่อม
จะไม่ให้ข้อมูลทั้งหมด

รถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนไม่ได้จะวิ่งบนท้องถนนได้หรือไม่

          ตามกฎหมายสำหรับรถยนต์ที่จะวิ่งบนท้องถนนจะต้องมีการจดทะเบียนที่ถูกต้อง ตามกฎหมายสำหรับรถยนต์ที่ไม่ได้จดทะเบียนเมื่อนำมาใช้บนพื้นที่สาธารณะจะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ตาม พรบ. ปี 2522 มาตรา 6/(1)

          นอกจากนี้รถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่ได้จดทะเบียนจะไม่สามารถต่อประกัน หรืออาจจะทำประกันได้แต่ไม่สามารถนำมาวิ่งบนท้องถนน

อยากนำรถเข้ามาขายในประเทศจะจดทะเบียนต้องทำอย่างไร

          จากขั้นตอนตามกฎหมาย เบื้องต้นผู้ที่นำเข้ารถเข้ามาจำเป็นจะต้องแจ้งส่งบัญชีกับกรมการขนส่งทางบกภายใน 15 วันของเดือนถัดไป แต่ในระหว่างทางจะมีอีกกระบวนการหนึ่ง คือ กระบวนการรับรองแบบรถ
เป็นการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของตัวรถยนต์ว่ารถต้องมีความปลอดภัยเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด
          ซึ่งเงื่อนไขของกรมการขนส่งทางบกจะเป็นทางเทคนิค ส่วนการตรวจสอบรถยนต์ไฟฟ้าจะเหมือนรถยนต์ทั่วไป เช่น ระบบมาตรวัดความเร็ว แตรสัญญาณหรือเสียงของรถ มาตรฐานมลพิษ เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนจะต้องทำ

           แต่รถยนต์ไฟฟ้าจะมีส่วนเพิ่มเติม คือ เรื่องความปลอดภัยของแบตเตอรี่ ที่คนส่วนใหญ่กังวลมากที่สุดจากข่าวต่าง ๆ อย่างในบางประเทศใช้รถยนต์ไฟฟ้าแล้วเกิดการระเบิด ไฟไหม้ รวมทั้งเป็นเรื่องที่กรมการขนส่งทางบก
ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากและมีการเร่งออกกฎหมายบอกว่า รถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้าตั้งแต่ต้นปี 2566 ต้องผ่าน
การรับรอง UN R100
เท่านั้น จะมีอยู่ 2 ส่วน คือ

1. ความปลอดภัยของตัวแบตเตอรี่

2. เมื่อนำแบตเตอรี่เข้ามาอยู่ในรถยนต์ไฟฟ้า จะต้องไม่เกิดการรั่วของกระแสไฟฟ้า

          ในช่วงต้นปี ที่กรมการขนส่งทางบกบอกว่ามาตรฐานรถยนต์ไฟฟ้าจะเป็น UN R100 กับ รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจะเป็น UN R136 ได้มีการบังคับใช้แล้วในปี 2566 หมายความว่าบริษัทผู้นำเข้าต้องส่งรายละเอียดของแบตเตอรี่
ผลการทดสอบของแบตเตอรี่มาที่กรมการขนส่งทางบก แต่ถ้าไม่มีผลการทดสอบแบตเตอรี่ก็สามารถทดสอบได้ที่สถาบันยานยนต์ ซึ่งเป็นแล็บที่ทางกรมการขนส่งทางบกมี การทดสอบทั้งหมดมี 9 รายการ

ข้อกำหนดต่าง ๆ ทำไมต้องทำให้เยอะยุ่งยาก

         กรมการขนส่งทางบกเป็นหน่วยงานที่ควบคุมกำกับดูแลเรื่องความปลอดภัยของรถที่ใช้บนท้องถนน
ซึ่งจะดูทั้งในเรื่องของบุคคลและรถ ดังนั้นรถที่จะนำมาใช้งานต้องเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยขั้นต่ำที่
ทางกรมการขนส่งทางบกกำหนด ปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกมีข้อกำหนดหลายอย่าง คือ มาตรวัดความเร็ว กระจกกันลมหน้า แตรสัญญาณ ระดับเสียง ความมั่นคงแข็งแรงของจุดยึดเข็มขัดนิรภัยกับจุดยึดที่นั่ง
และในปี 2567 ที่จะเริ่มใช้คือ ระบบห้ามล้อ มาตรฐานที่ใช้ในการควบคุมได้อ้างอิงตามมาตรฐานสากล คือ
มาตรฐาน UN

อยากซื้อรถยนต์ไฟฟ้าต้องดูและต้องทำอะไรบ้าง

          เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าถือว่าเป็นสินค้าอย่างหนึ่งที่ต้องมีการดูแลอย่างสม่ำเสมอ ทางกรมการขนส่งทางบกมีคนที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการที่จะมาดูแลรถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์สมัยก่อนที่เป็นเครื่องยนต์สันดาปภายในสามารถไปซ่อมตามอู่ข้างนอก 

          สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจะมีการตรวจสอบภายนอก เช่น ยางล้อ โคมไฟภายนอก เป็นต้น แต่ระบบภายใน
ที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ ถ้าไม่ใช่ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ จะไม่มีโปรแกรมสำหรับการตรวจสอบ
          ข้อแนะนำสามารถนำรถยนต์ไฟฟ้าไปตรวจสอบกับบริษัทผู้ผลิตที่เป็นทางการในการซื้อรถ 

          ส่วนผู้นำเข้าอาจจะต้องมีการคุยอย่างชัดเจนว่ารถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้ามาสามารถจดทะเบียนได้ แต่ถ้าหาก

ไม่แน่ใจสามารถติดต่อมาที่สำนักวิศวกรรมยานยนต์เพื่อตรวจสอบการรับรองของรถยนต์ไฟฟ้า ว่าสามารถนำมา

จดทะเบียนได้อย่างแน่นอน เพราะกรมการขนส่งทางบกย่อมต้องมีข้อมูลจากค่ายรถที่จะต้องมายื่นตามขั้นตอน

         วันนี้เราก็ได้มาหาคำตอบในแต่ละประเด็นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจจะใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งคุณสามารถดูเรื่องนี้ได้จากคลิปด้านล่าง และถ้าหากคุณชอบคลิปนี้ขอฝาก กดLIKE กด SHARE กด SUBSCRIBE ที่ช่องของ
พวกเราด้วยนะครับ

Share

FOLLOW US


WELLDONE GUARANTEE

452 Pecthkraseam Rd. Laksong Bangkhae, Bangkok 10160
Email : welldone.guarantee@gmail.com Tel. 0889415944

Copyright © 2022 EV GUARANTEE All rights reserved.