ปัจจุบันตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างมากและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งดูได้จากยอดขาย
รถยนต์ไฟฟ้าเมื่อปี 2565 ที่มีปริมาณยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าสะสมอยู่ที่ 9,700 กว่าคัน และต่อมาในช่วง
4 เดือนแรกของปี 2566 มีปริมาณยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าประมาณ 18,000 กว่าคัน ซึ่งขยายตัวมากขึ้นถึง
1 เท่าตัว
ประกอบกับช่วงสิ้นปี 2566 คาดการณ์ว่าจะมีผู้จดทะเบียนใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 50,000 – 60,000 คัน แสดงให้เห็นว่าผลของมาตรการส่งเสริมด้านรถยนต์ไฟฟ้า หรือ มาตราการส่งเสริมด้าน EV ที่มีการสนับสนุนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท จะได้รับส่วนลดจำนวนเงิน 200,000 กว่าบาทต่อคัน เพื่อให้ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าใกล้เคียงกับราคารถยนต์ที่ใช้น้ำมัน และเป็นปัจจัยที่ช่วยให้เกิดการกระตุ้นความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
จากมาตรการส่งเสริมด้าน EV ที่มี 3 ระยะ ทางประเทศไทยกำลังเข้าสู่เฟสระยะที่ 2 ในการพัฒนาผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยนโยบายส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมีความชัดเจนมากขึ้น จากการที่ ครม. ประกาศมาตรการยกเว้นอากรศุลกากรชิ้นส่วนประกอบหรือผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่
1. แบตเตอรี่
2. มอเตอร์ขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า
3. คอมเพรสเซอร์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า
4. ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS)
5. ระบบควบคุมการขับขี่
6. ออนบอร์ดชาร์จเจอร์ (on-board charger)
7. ดีซี/ดีซี คอนเวอร์เตอร์ (DC/DC converter)
8. อินเวอร์เตอร์ (inverter) รวมถึง พีซียูอินเวอร์เตอร์ (PCU inverter)
9. รีดักชั่น เกียร์ (reduction gear)
เป็นการดึงดูดให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ของโลกให้ความสนใจที่จะมาตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ใน
ประเทศไทย ซึ่งแบตเตอรี่ถือว่าเป็น Supply chain ที่สำคัญสำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด เพราะมีราคา
เท่ากับ 40 – 50% ของรถยนต์ไฟฟ้าทั้งคัน
ทางภาครัฐของประเทศไทยอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ของโลก โดยมี 2 บริษัท
ที่จะมาลงทุนในประเทศไทยอย่างแน่นอน พร้อมทั้งจะมีอีกค่ายที่กำลังจะเข้ามาเพิ่ม
ผู้ผลิตแบตเตอรี่ที่จะมาลงทุนที่ประเทศไทย
1. CATL (Contemporary Amperex Technology Co., Limited) ซึ่งเป็นบริษัทอันดับ 1 ของโลกในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า
เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนที่ครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 40.83% มีค่ายรถที่เป็นลูกค้าหลักคือ BMW, Honda, Toyota, Volkswagen, Peugeot และVolvo
รวมถึงค่ายรถยนต์ไฟฟ้าอันดับหนึ่ง คือ Tesla โดยเฉพาะโรงงาน Giga เซี่ยงไฮ้ ที่ประเทศจีนมีการใช้แบตเตอรี่ของ CATL
CATL เป็นบริษัทที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่ใช้เวลาไม่ถึง 10 ปี ก่อตั้งตั้งแต่ปี 2011 ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลจีน ส่งผลให้ CATL สามารถขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยกำลังการผลิตแบตเตอรี่ทั่วโลกมากถึง 70.9 GWh ต่อปี
ล่าสุด ทางบริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) เป็นบริษัทในเครือของ บมจ.ปตท. มีการร่วมมือกับ
ทาง CATL เซ็นสัญญาข้อตกลงจะตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทย
ซึ่งลงทุนเป็นเม็ดเงินกว่า 3,600 ล้านบาท โดยเป็นโรงงานประกอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบ Cell-To-Pack (CTP) ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
โรงงานจะพร้อมเดินสายการผลิตภายในปี 2024 ด้วยกำลังการผลิตอยู่ที่ 6 GWh สำหรับที่ประเทศไทย
ถือว่าเยอะมาก และมากกว่าบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) ซึ่งเป็นบริษัทแบตเตอรี่ในเครือของ บมจ.ปตท.
การร่วมมือกันระหว่าง CATL และ ARUN PLUS ที่เป็นบริษัทในเครือของ บมจ.ปตท. มีความเป็นไปได้มากกว่าการร่วมมือกับทาง Foxconn ซึ่งเป็นบริษัทรับจ้างผลิตและไม่เคยผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
การที่ CATL ร่วมมือกับ ARUN PLUS ซึ่งทาง CATL มีการขายแบตเตอรี่อยู่ และธุรกิจแบตเตอรี่เป็นธุรกิจที่เป็นต้นน้ำที่รถยนต์ไฟฟ้าทุกค่ายที่จะต้องใช้ ดังนั้นในการร่วมมือครั้งนี้มีแนวโน้มที่เติบโตได้อย่างรวดเร็ว
ประกอบกับ ในอนาคตทาง ARUN PLUS มีการศึกษาความเป็นไปได้การร่วมมือกับทาง CATL ไม่ว่าจะเป็น
เรื่องของการทำสถานีสลับแบตเตอรี่ที่จะทำในเฟสต่อไป หลังจากการผลิตแบตเตอรี่ เนื่องจาก CATL มีบริการ
สลับแบตเตอรี่ EVOGO สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า
รวมทั้งการทำเทคโนโลยีในการรีไซเคิลแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟฟ้า
สุดท้าย คือ เรื่องเทคโนโลยีใหม่ของ CATL ที่เรียกว่า Integrated Intelligent Chassis หรือ Cell to Chassis (การออกแบบให้แบตเตอรี่เป็นส่วนหนึ่งของพื้นตัวถังรถ) จะเป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าในรุ่นต่อไป
โดยมีการเริ่มเรียนรู้ Know-how จากที่เริ่มผลิตและพัฒนาเพื่อยกระดับต่อไป และสร้างการเติบโตอย่าง
ก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมประเทศไทย
2. SVOLT เป็นบริษัทผลิตแบตเตอรี่ของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ (GWM)
ในช่วง 2- 3 ที่ผ่านมาได้มาเปิดตัวที่ประเทศไทยในงานมอเตอร์โชว์ นำแบตเตอรี่ของทาง SVOLT มาแสดง
SVOLT เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่สัญชาติจีนอยู่ในอันดับที่ 8 ของโลก มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 1.66%
ด้วยกำลังการผลิตที่ 2.6 GWh ซึ่งลูกค้ากลุ่มใหญ่จะเป็นค่ายรถของประเทศจีน อาทิ GWM, Geely, Dongfeng, Voyah, SERES, Hozon และXpeng
ทาง SVOLT วางแผนจะตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่แพ็คในประเทศไทย โดยมีงบลงทุนอยู่ที่กว่า 1,000 ล้านบาท คือ การนำแบตเตอรี่เซลล์เข้ามาประกอบเป็นแบตเตอรี่แพ็ค เพื่อนำส่งให้กับค่ายรถต่าง ๆ ส่วนที่ตั้งโรงงานยังไม่มีการประกาศบอกรายละเอียด เพราะว่าจุดประสงค์หลักของ SVOLT เป็นการเข้ามาเพื่อสนับสนุน GWM ในช่วงแรก
อย่างที่ทราบกันว่า ค่าย GWM ขายรถยนต์ไฟฟ้า ORA Good CAT
ซึ่งค่ายรถยนต์ไฟฟ้าใดก็ตามที่เข้าร่วมมาตรการส่งเสริมด้าน EV จะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าคืนในปี 2567
ดังนั้น เรื่องของ Supply Chain ส่วนแบตเตอรี่ที่มีราคาสูงที่สุด ทาง SVOLT จึงจะต้องเข้ามาสนับสนุนการผลิตประกอบแบตเตอรี่ให้กับ GWM หรือ รถ ORA Good CAT
เดิมที SVOLT เป็นแผนกหนึ่งของ GMW สำหรับการพัฒนาและวิจัยเรื่องเกี่ยวกับแบตเตอรี่ตั้งแต่ปี 2012
จนถึงปี 2018 แต่เริ่มเติบโตมากขึ้นและมี Know-How และต้องการให้ราคาของแบตเตอรี่ถูกลง ซึ่งจะต้องมี
การผลิตขายให้กับค่ายรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์อื่น ๆ
จากการที่เป็นเพียงแค่แผนก ทำให้การขายแบตเตอรี่ให้กับค่ายรถอื่น ๆ ทำได้ลำบาก จึงมีการแบ่งออกมาเป็นธุรกิจใหม่ ชื่อ SVOLT Energy ที่ผลิตแบตเตอรี่เซลล์ โมดูล แบตเตอรี่แพ็ค และ iBMS
ปัจจุบัน มีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ของ SVOLT ในประเทศจีนทั้งหมด 11 แห่ง และอีก 1 แห่งในประเทศเยอรมนี สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของ SVOLT
ค่ายรถที่อยู่ในขั้นตอนการเจรจาลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่ที่ประเทศไทย คือ
ค่าย BYD ที่มีการผลิตแบตเตอรี่เป็นของตัวเองพร้อมทั้งรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งเป็นการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และรถของ BYD มีหลาย Segment โดยเฉพาะ รถ BYD ATTO 3 เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่คนใช้มากที่สุดในประเทศไทย
BYD ขึ้นชื่อในเรื่องของ Blade Battery ที่มีความปลอดภัยสูงมากเป็นเทคโนโลยีที่สร้างเชื่อมั่นให้คนหันมาใช้
รถยนต์ไฟฟ้าของ BYD
ซึ่ง BYD เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก โดยที่มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 35 GWh ต่อปี
มีสัดส่วนทางการตลาดการผลิตแบตเตอรี่อยู่ที่ 29.11% ซึ่งตัว Blade Battery มีนำมาใช้ในรถยนต์ของ Ford
และล่าสุดทางค่าย Tesla ในประเทศจีนมีการซื้อแบตเตอรี่ของ BYD นำมาใช้เรียบร้อยแล้ว จะเห็นได้ว่า BYD
นอกจากจะใช้แบตเตอรี่ของตัวเองยังมีการขายให้กับค่ายรถอื่น ๆ
ในตอนนี้ทาง BYD อยู่ในขั้นตอนการคุยกับทาง BOI เพราะว่าทาง BYD มีแผนที่จะตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ดังนั้นเพื่อเติมเต็มในเรื่องของ Supply Chain โดยเฉพาะเรื่องของแบตเตอรี่ที่มีราคาต้นทุนมากที่สุดของรถยนต์ไฟฟ้า ถ้าหากมีการตั้งโรงงานจะอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ จังหวัดระยอง ที่จะต้องรอติดตามทิศทางการตัดสินใจของ BYD ที่อาจจะพิจารณาจากความนิยมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า BYD ที่มีปริมาณผู้ใช้จำนวนมากในประเทศไทย
การที่ค่ายแบตเตอรี่รายใหญ่ของโลกมาตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทย ทั้งที่ไม่มีแร่ทรัพยากรที่สำคัญ อย่าง ลิเธียมหรือนิกเกิล เพื่อใช้ประกอบในการผลิตแบตเตอรี่ แต่ทางค่ายที่ได้กล่าวถึงมองเห็นว่าประเทศไทยมีนโยบายการส่งเสริมด้าน EV และมีจำนวนความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดในอาเซียน รวมทั้งมีนโยบายสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยอย่างชัดเจน ถือว่าเป็นส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนจากยุคของรถยนต์ที่ใช้น้ำมันมาสู่ยุคของรถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้นการเกิดอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทยถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดี ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมด้าน EV ของประเทศไทยเติบโตได้ในอนาคตข้างหน้า
คุณสามารถดูข่าวได้จากคลิปด้านล่างนี้ และถ้าหากคุณชอบคลิปนี้ขอฝาก กดLIKE กด SHARE
กด SUBSCRIBE ที่ช่อง YOUTUBE ของพวกเราด้วยนะครับ